Clown of a Salesman หนังปี 2014 ของผู้กำกับ Jo Chi-eon ก็เช่นกัน โดยที่นำเรื่องราวของ สังคมผู้สูงอายุ (ผู้หญิง) และ งานขาย มาเชื่อมกัน ผ่านบทบาทการแสดงของ Kim In-kwon ในบทของ Il-Bum ชายผู้ที่พยายามอย่างหนักเพื่อครอบครัว, Park Cheol-min กับบทของผู้จัดการจอมเจ้าเล่ห์ และ Lee Joo-sil ในบทของ Ok-nim หญิงชราผู้โดดเดี่ยว ที่ต่างต้องมาพัวพันกันหลังจากที่ Il-Bum ต้องออกจากงานขับแท็กซี่ และมาเริ่มต้น แบบไม่มีทางเลือกกับงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ (หรือในหนังเรียกกันว่า “งานขาย”) ที่ต้องคอยดูแลเอาใจเหล่าหญิงสูงอายุให้สนุกสนาน เพื่อให้เธอซื้อสินค้าต่างๆ ของบริษัทที่มีราคาสูงเกินจริงเป็นการแลกเปลี่ยน เพื่อที่ Il-Bum จะสามารถหาเงินเพื่อไปรักษาลูกสาวที่ป่วยด้วย และเมื่อ Il-Bum ได้มาเจอกับ Ok-nim หญิงชราคุณแม่ดีเด่นแห่งชาติ ผู้มีลูกชายเป็นอัยการ แต่ตนเองต้องอยู่คนเดียวอย่างเงียบเหงาในคอนโดเล็กๆ Il-Bum ก็เป็นตัวแทนของลูกชายที่ห่างเหินกับเธอได้ เหมือนกับเป็นแม่ลูกกันจริงๆ
ปมของหนังมาถึงจุดพีคที่ Il-Bum ต้องการใช้เงิน จนเขาต้องยอมพ่ายแพ้แก่ความโลภ นำความรู้สึกที่ดีของหญิงชรามาแปรเปลี่ยนเป็นผลประโยชน์ของตนเอง จนลงท้ายด้วยโศกนาฏกรรมในที่สุด
เมื่อหนังจบแล้ว สิ่งที่ให้เราได้คิดถึงมันต่อ อย่างแรกคือ คำเตือนต่างๆ จากกูรูทั้งหลายที่เตือนถึงอนาคตของชนชั้นล่าง ผู้ที่ไม่มีทักษะใดๆ ที่ตลาดต้องการ จะอยู่กันยากขึ้น ทั้งรายได้ ความมั่นคง และค่าใช้จ่ายที่น่ากลัวที่สุดคือ ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งถ้าป่วยขื้นมาแล้ว บางครั้ง บางโรค ทำเอาเราแทบจะหมดตัวเลยทีเดียว ดังนั้น การวางแผนชีวิต หลีกเลี่ยงปัจจัยป่วย และสำรองค่าใช้จ่ายให้พอเพียงยามต้องการ น่าจะเป็นสิ่งแรกที่เราต้องสำนึกกันไว้
ประเด็นถัดมา คือ การคืบคลานเข้ามาของสังคมผู้สูงอายุ ที่เห็นได้ชัดเจนว่า อีกไม่นาน คนกลุ่มใหญ่จะต้องแยกตัวมา “แก่” อย่างเดียวดาย อย่างที่หนังจะย้ำกับเราสองสามครั้งว่า บางที “ความกตัญญู” ก็ไม่ขึ้นกับระดับการศึกษา หรือ ฐานะร่ำรวยใดๆ และด้วยเหตุผลนานาของลูกหลาน ที่สนใจแต่เรื่องของตัวเองจนลืมไปว่า เขาทิ้งขว้างพ่อแม่ผู้สูงอายุที่เป็นคน มีความรู้สึกเช่นกัน ไปไกลแค่ไหน ซึ่ง “ว่าที่ผู้สูงอายุ” ทั้งหลายก็คงอย่ามัวรอลูกหลาน ต้องเริ่มคิดวางแผนชิวิตไว้แต่เนิ่นๆ เช่นกัน
สุดท้ายสำหรับคนที่เกี่ยวข้องกับงานขายทั้งหลาย น่าจะได้เห็นรูปแบบการขายในแบบต่างๆ ที่ผู้จัดการได้พร่ำสอนเขา ตั้งแต่ การใช้ไม้นวมในการเกลี้ยกล่อมลูกค้า, การนำเสนอด้วยรูปแบบที่สนุกสนาน, ฉาบเคลือบด้วยความปรารถนาดี, บนชั้นเชิงของการนอบน้อมถ่อมตน, วางตัวเป็นผู้ที่คอยเอาใจใส่ยิ่งกว่าลูกหลานของตนเอง, ประกอบกับการเล่นละครให้กลุ่มเป้าหมายได้เห็นใจโดยไม่หวงน้ำตากันเลย, จนกระทั่งการใช้บทไม้แข็งในการข่มขู่ต่างๆ เพื่อให้ได้เงินมาที่สุด
ซึ่งเทคนิคเหล่านี้ แม้ว่าบางอย่างจะเป็นสีเทาไปจนเกือบจะดำน่ารังเกียจ แต่ก็ต้องยอมรับว่า มันก็คือเทคนิคการขายอีกแบบหนึ่งเช่นกัน แต่อยู่ที่ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขายจะยอมรับ และ ยอม “เปลี่ยนตัวตน” เพื่อผลประโยชน์ดังกล่าวได้แค่ไหน แล้วเรายังเหลือความภูมิใจในศักดิ์ศรีความเป็นคน ของเราอีกหรือไม่
ซึ่งเป็นคำถามที่ตัวละครก็ยังคงพร่ำถามตนเอง แม้ว่าหนังจะปิดฉากไปแล้วก็ตาม