น็อกเทิร์น บทเพลงสำหรับเดี่ยวเปียโนในลักษณะโรแมนติก ให้บรรยากาศยามค่ำคืน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าน็อกเทิร์นจะเป็นเพลงที่มีแต่ความหวานซึ้ง น็อกเทิร์นบางบทก็มีอารมณ์ที่รุนแรง อ้างอิงจากวิกิพีเดีย ซึ่งเป็นที่มาของธีมของหนังเรื่องนี้คือการที่นางเอก “จูเลียต” นักเรียนดนตรีเปียโนพยายามแข่งกับพี่สาว “วิเวียน” ที่เก่งกว่าในงานจบการศึกษาเทอมสุดท้ายที่โรงเรียนจัดขึ้น และพี่สาวถูกวางตัวไว้ว่าเป็นตัวเต็งคนเล่นเปียโนนำด้วยบทเพลงแนวน็อกเทิร์นที่หาคนเล่นได้ยาก จนกระทั่งเธอไปพบสมุดบันทึกของนักเรียนดีเด่นที่ฆ่าตัวตายในเทอมก่อน และพบว่าสมุดเล่มนี้ช่วยชี้ทางให้เธอประสบความสำเร็จได้อย่างไม่น่าเชื่อ แม้ว่าต้องแลกมาด้วยเรื่องประหลาดลึกลับที่เกิดขึ้นรอบตัวเธอก็ยินยอม
จากหนังตัวอย่างมีความน่าดูสูง เหมือนการพบกันของ Whiplash กับ Black Swan แถมในตัวอย่างก็โปรยว่าจากผู้อำนวยการสร้าง Whiplash อีก ซึ่งพอได้ดูจริง กลับกลายเป็นแค่ได้กลิ่นจางๆ มากของสองเรื่องที่ว่ามานั่น ซึ่งที่จริงแล้วคนเขียนบทกับกำกับเรื่องนี้อย่าง Zu Quirke ก็คงได้แรงบันดาลใจมาจากสองเรื่องนี้บ้างแน่ๆ เพราะความพยายามผสมแนวศิลปะกับดนตรีสองเรื่องมาไว้ในเรื่องเดียวกัน แล้วก็เติมเรื่องปีศาจเพิ่มไปสักหน่อย ก็ได้เป็นหนังเรื่องใหม่ที่พล็อตดูโอเคดีในความคิด แต่เวลาทำจริงมันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อหนังแทบไม่ได้ไปถึงส่วนเสี้ยวแก่นของสองเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย
ในความเป็น Whiplash คือการที่ตัวเอกต้องเจอครูสุดโหดที่เคี่ยวกรำด้วยวิธีโหดๆ ให้ตัวเอกได้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งก็มีความซาดิสส่วนตัวผมรวมอยู่ด้วย จนตัวเอกแทบสติแตก แต่พอมาเป็นเรื่องนี้คือครูกลับเป็นฝ่ายถูกกระทำจากตัวเอกจูเลียตซะเอง จนมีปัญหากับนักเรียน แล้วก็ไม่ได้มีฉากเคี่ยวกรำอะไรแบบนั้นเลยแม้แต่น้อย แม้แต่บทเพลงของ แซงซอง ที่ทำนองดุดันในเรื่องก็มีเล่นให้เห็นแค่นิดหน่อยเท่านั้น ไม่มีช่วงยาวๆ ให้ดูดุดันจนจบเลย แม้กระทั่งตอนจบที่คนดูแนวเพลงหวังว่าจะมีฉากเล่นเพลงมันส์ๆ ก็กลับไม่ได้เน้น จนงงว่าตกลงหนังเรื่องนี้ใช่แนวเพลงหรือไม่ใช่กันแน่ ดูเหมือนเพลงในเรื่องเป็นแค่น้ำจิ้มประกอบเท่านั้น
ในความเป็น Black Swan คือตัวเอกต้องพยายามฝึกแข่งกับตัวเองจนกลายเป็นคนสองบุคลิก สำหรับเรื่องนี้นางเอกไม่ได้แข่งกับตัวเองอะไรสักเท่าไหร่ แม้จะพยายามมีฉากให้เห็นว่าซ้อมเล่นดึกดื่น แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นดูแล้วลำบากอะไรขนาดนั้น แถมความพยายามเอาเรื่องที่ว่านางเอกใช้ยาช่วยระงับประสาทจนเห็นภาพหลอน ซึ่งก็เป็นตัวหลอกที่พยายามให้คนดูคิดว่า นางเอกหลอนไปเองหรือมีปีศาจจริงๆ แต่การดำเนินเรื่องกลับไม่ได้ทำให้รู้สึกถูกหลอกขนาดนั้น เพราะตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องก็ชี้ให้เห็นแล้วว่านักเรียนที่ฆ่าตัวตายผิดธรรมชาติ แถมตอนจบของเรื่องก็จบง่ายๆ แบบไม่ต้องให้คนดูขบคิดว่าอะไรคือเรื่องจริงเลย จนกลายเป็นการทำให้เรื่องราวที่ปูมาว่าหลอนหรือปีศาจมีจริงแทบจะเสียเวลาฟรีๆ กับฉากจบแบบนี้