หนังเจ้าของประโยค “ช้างกูอยู่ไหน” ในตำนานน่ะนะครับ ว่าด้วยขาม (จา พนม ยีรัมย์) กับการตามหาช้างพ่อลูกที่โดนพวกค้าสัตว์ข้ามชาติจับส่งไปกรุงซิดนี่ย์ ประเทศออสเตรเลีย
ผมดูหนังเรื่องนี้ตั้งแต่เข้าโรงครับ ยอมรับว่าชอบ องค์บาก มากกว่ามาก และสารภาพแบบไม่อ้อมค้อมว่าเฉยๆ กับเรื่องนี้น่ะครับ
จุดขายของหนังก็คือฉากแอ็กชัน ซึ่งก็ไม่เลวน่ะครับ การออกลีลาบู๊ของพี่จาและเหล่าสตันท์ถือว่าน่าพอใจ แต่จะน่าเสียดายนิดๆ ตรงการตัดต่อที่บางฉากก็ไวไปจนไม่เห็นลีลาบู๊ หรือบางซีนก็จับภาพในมุมที่ยังไม่โดนหรือไม่ทำให้เร้าใจเท่าไร แต่อย่างฉากอัดกันแบบ Long Take ที่ร้านอาหารต้มยำกุ้งนั่นทำได้ดีครับ การเตรียมคิววางกล้องไล่ตามนี่ถือว่าน่าปรบมือทีเดียว
ครับ ด้านฉากบู๊ถือว่าโอเค แต่จุดที่ผมและเชื่อว่าหลายคนคงเห็นตรงกันคือบทที่ดูโล่งโถงเกินไป บางอย่างก็ดูไม่สมเหตุผล อย่างตอนต้นที่พ่อของขามโดนยิง คือเสียงปืนมันก็ดังน่ะนะครับ พี่ขามก็ได้ยิน แต่พี่ขามแกเอาแต่ตามช้างอย่างเดียว คือพ่อทั้งคนนะครับ ไม่คิดจะพาไปหาหมอก่อนเลยรึ
แล้วช่วงท้ายของหนังก่อนการต่อสู้ช่วงไคลแม็กซ์นั่น หนังมีฉากพี่ขามแกแสดงความสะเทือนใจแบบจัดเต็มกับชะตากรรมของช้าง ยืนเศร้าหมดอาลัยอยู่นานมาก ขนาดโดนพวกลิ่วล้อตัวร้ายอัดก็ยังไม่มีแรงตอบโต้…ในขณะที่ฉากพ่อโดนยิง ไม่มีอะไรสื่อเลยว่าพี่เศร้า… เข้าใจครับว่าอยากสื่ออารมณ์ว่าพี่ขามกับช้างผูกพันกันแค่ไหน แต่… มันดูตลกๆ อยู่นา
ผมไม่รู้นะครับว่าฉากดราม่าในหนังที่โดนตัดออกตามคำสั่งเบื้องบนน่ะมีฉากอะไรบ้าง เคยได้ยินว่าจริงๆ หนังมีบท มีซีนดราม่าพอสมควรแต่ก็โดน “คนบางคน” สั่งให้หั่นออกไปจนหนังดูเบาไปเลย
ผมอยากให้ “คนบางคน” นั้นดู Taken เป็นตัวอย่างครับ นี่ก็หนังว่าด้วยการตามล่า “สิ่งที่หายไป” เหมือนกัน แต่ทำไมมันถึงมันส์ มันถึงทำให้เราอิน และมันถึงทำให้เราเชื่อว่าพระเอกยินดี “ตามไปสุดหล้า เพื่อเอาลูกข้าคืน” ซึ่งคำตอบก็คือสัดส่วนที่พอเหมาะของดราม่ากับแอ็กชันนี่แหละ
ที่สำคัญคือ Taken ยาวแค่ 93 นาที ส่วนต้มยำกุ้งบ้านเรายาว 105 นาที (อันนี้คือฉบับฉายไทยนะครับ) แต่แปลกที่หนัง 93 นาทีมีครบทั้งบู๊ ดราม่า และความผูกพันส่วนหนัง 105 นาทีกลับมีแต่ “ช้างกูอยู่ไหน”
เรื่องนี้ผมไม่ตำหนิทีมงานครับ เชื่อว่าทุกท่านพยายามแล้ว และจริงๆ คือพวกท่านทำได้น่าพอใจด้วย ฉากบู๊แต่ละฉากนี่ทุ่มเทเจ็บจริง แต่ก็เหมือนทุกสิ่งนั่นแหละครับ ที่หากไม่มีสมดุลย์เพียงพอรสชาติมันก็จะไม่กลมกล่อม ซึ่งก็เข้าใจเช่นกันว่าบางครั้งอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานในบางค่ายก็ยังถูกจำกัดโดยเจ้าของทุนอยู่