เหมือนหนังซัมเมอร์ทั่วๆ ไปที่หวังเป็นจ่าฝูงในตารางบ็อกออฟฟิศ และเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนดูทั่วไปทุกเพศทุกวัยทั้งบนแผ่นดินโลกและทั้งกาแล็กซี่หากเป็นไปได้ โครงสร้างของหนังจึงไม่ถูกออกแบบให้แปลกแหวกแนวหรือซับซ้อนได้มากไปกว่าการรีไซเคิลโครงสร้างเดิม
และเสริมแต่งด้วยมุกต่างๆนานา เลือกตัวละครที่สามารถฮ็อตฮิต สร้างสรรค์เทคนิคภาพพิเศษให้เพลินตา และฉากแอคชั่นอวกาศลุ้นระทึกเพลินใจ คนทำรู้ดีว่าเมื่อรวมร่างอะไหล่พิเศษเหล่านี้ได้เมื่อไหร่ก็แน่นอนว่าจะได้ยานอวกาศลำงามเดินทางพาหนังให้มีโอกาสกอบโกยรายได้มหาศาลได้ง่ายดาย
เมื่อมองตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้มีหนังที่ให้ความบันเทิงในแบบเดียวกันเพิ่มมากขึ้นๆ จนเรียกได้ว่าซ้ำซาก ทั้งเรื่องราวและรูปแบบการนำเสนอ ซึ่งถ้าไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากการ์ตูนยอดฮิตของมาร์เวล คงมีกระแสเปรียบเทียบกับหนังผจญภัยในอวกาศเรื่องก่อนหน้ามากกว่านี้ทั้ง Star Wars (George Lucas, 1977)/ Serenity (Joss Whedon, 2005) / Star Trek (JJ. Abrams, 2009 / A+25)
รวมไปถึงหนังในอาณาจักรซูปเปอร์ฮีโร่ฝั่ง Marvel อย่าง Thor (Kenneth Branagh, 2011 / B) ที่การออกแบบกายภาพตัวละครที่คล้ายคลึงกัน และ The Avengers (Joss Whedon, 2012 / A+30) ที่โครงสร้างลักษณะตัวละครแบบฉบับกลุ่มฮีโร่ต่างคาแร็กเตอร์มารวมกันเพื่อทำภารกิจ นอกจากนั้นยังมี Green Lantern (Martin Campbell, 2011 / C+) จากฝั่ง DC ที่หลายฉากในหนังและความตลกเฮฮาทำให้นึกถึง แต่ Guardians of the Galaxyทำได้ลงตัวกว่าฮีโร่ชุดเขียวห่างกันหลายขุมอุกาบาตนัก
นอกจากความเป็นหนังแอคชั่น ไซ-ไฟแล้ว ความสัมพันธ์ของ ’สตาร์ลอร์ด’ กับ ‘กาโมร่า’ รวมถึงมนุษย์ต่างดาวที่สืบสายพ่อแม่ลูกต่างสายพันธ์ต่างๆ ก็มีความน่าสนใจในเรื่องของชาติพันธุ์ ทำให้นึกถึงปฏิกิริยาของเหล่ามนุษย์ชายที่มีต่อรูปร่างของเอเลี่ยนที่ปลอมเปลือกเป็นมนุษย์สาว ‘สกาเล็ต โจแฮนซัน’ ในหนังเรื่อง Under the Skin (Jonathan Glazer, 2013 / A+30)
ซึ่งเหล่ามนุษย์ต่างดาวใน Guardians of the Galaxy มีความรักใคร่โดยมองข้ามรูปร่างภายนอกที่แตกต่าง แม้กระทั่งสตาร์ลอร์ดที่เคยอยู่ในฐานะเด็กชาวโลกในนาม ปีเตอร์ ควิลล์ แต่ชีวิตที่เติบโตผจญภัยในอวกาศก็ทำให้เขาได้ลิ้มรสสวาทสาวๆมาทั่วกาแล็กซี่ คือมองในมุมกลับกันชายทั้งหลายที่ถูกเอเลี่ยนจัดการใน Uder the Skin ไม่มีทางจะพิศวาทมนุษย์ต่างดาวตัวเขียวอย่างกาโมร่าได้ง่ายๆ เป็นมุมมองเล็กๆที่น่าสนใจดี
ผู้กำกับ James Gunn ขึ้นยานลำเดียวกันกับคนเขียนบทพา Guardians of the Galaxy เอาตัวรอดได้ด้วยการรัวเร้าความสนุกเฮฮาแบบไม่ยั้ง ผ่านสถานการณ์ที่สนุกสนานน่าตื่นเต้น และความยั่วยวนกวนเท้าของแต่ละตัวละครผู้พิทักษ์จักรวาลที่บริหารเสน่ห์ความเป็นลูสเซอร์กันได้พอดีๆ อาจมียานแตกบ้างเมื่อรวมกลุ่มกันยิงมุกผ่านบทสนทนาที่ตั้งใจปูพื้นจนจับทางได้ อย่างเช่น มุก ‘I am Groot’ ของ ‘กรู๊ท’ ที่เรียกเสียงฮาได้ในช่วงแรกๆก่อนที่จะเบื่อ จนถูกนำไปใช้ในบทซาบซึ้งในตอนท้ายที่ออกอาการจั๊กจี้ได้เหมือนกัน แต่ก็กลับมาลอยลำได้เมื่อถึงคิวมุกที่เล่นล้อด้วยจังหวะซ่อนและการตัดต่อ อย่างเช่น มุกอาวุธพิฆาตของ ’ยอนดู’ ที่กั๊กไว้ไม่ปล่อยมุกให้เห็น เป็นอาวุธที่ดูทึ่มๆแต่อีกมุมเหมือนซ่อนพิษสง ก่อนที่จะมาเท่สุดทางอย่างร้ายกาจในฉากท้ายๆ และมุกเพลงของสตาร์ลอร์ดที่ฟีตเจอริ่งร่วมกับการอ้างชื่อ Kevin Becon ซึ่งถ้าขาดส่วนนี้ไปเรื่องทั้งเรื่องอาจไม่มีอะไรพิเศษให้น่าจดจำนัก แต่ตอนท้ายก็เอามาใช้ได้กวนฮาที่สุดครั้งหนึ่งจากมุกทั้งหมดในเรื่อง แม้มันจะกึ่งๆความงี่เง่าไปหน่อยก็ตามรวมถึงฉากแหกคุกในช็อตที่สตาร์ลอร์ดไปเจรจาขอขาเทียมด้วยท่าทีประนีประนอม ขณะที่ตัดกลับมาภายนอกทุกคนกำลังยิงถล่มวิ่งสู้วิ่งหนีกันวุ่นวาย แต่ในฉากวุ่นเดียวกันนี้ยังมีบางแผลเล็กๆน้อยให้มองเห็นซึ่งถูกละเลยในการรักษา
รายละเอียดถูกลดทอนความสำคัญไปกับการกระตุ้นความสนุกสนาน จนดูเหมือนว่าเผลอลืมการแก้ต่างปัญหาและความไม่สมจริงบางอย่าง การที่ ‘ร็อกเก็ต’ รู้ทุกวิธีการที่จะทำให้หนีรอดออกไปได้ด้วยการให้เหตุผลว่าเคยแหกคุกมาแล้วหลายครั้งก็ยังรู้สึกว่าง่ายเกินไป รู้กระทั่งว่าห้องควบคุมนั้นสามารถแยกออกมาเป็นยานพาหนีไปได้ จนไปถึงรู้วิธีควบคุมอาวุธไอพ่น มีช่วงหนึ่งขณะที่ภายนอกอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก แต่ภายในห้องควบคุมที่ถูกยิงจนกระจกหลุดร้าวกลับไม่เกิดปัญหาอะไร และฉากที่สตาร์ลอร์ดไปเอาเครื่องเล่นเทปซึ่งเป็นของดูฟังต่างหน้าแม่คืนมา ผู้คุมนั้นกลับนั่งฟังเพลงหน้าตาระรื่น ทั้งที่เมื่อสักครู่เกิดการต่อสู้ยิงปืนลั่นกันสนั่นคุก นอกจากนั้นคนใช้ในยานของสตาร์ลอร์ดที่หายหน้าไปโดยที่ไม่ถูกพูดถึงอีกเลย แต่ทั้งหมดไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับคนส่วนใหญ่ เมื่อจังหวะจะโคนรับส่งความสนุกสุดสนานทำได้ดีแบบฉากต่อฉาก คำพูดต่อคำพูดอย่างคล่องแคล่ว สร้างขึ้นมาครอบคลุมบดบังความพร่องเหล่านี้จนแทบไม่มีใครรู้สึกขัดใจ
ด้วยความที่ไม่ได้ติดตามอ่านฉบับคอมิกเลยไม่รู้ว่าอารมณ์บรรยากาศก่อนที่จะมาเป็นหนังนั้นเป็นอย่างไรแต่เมื่อถูกจัดวางให้เป็นหนังที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี ความประนีประนอมจึงเกิดขึ้น อย่างเช่นพลังของออร์บอัญมณีที่ทุกฝ่ายต่างแย่งชิง ฝ่ายหนึ่งหวังใช้พลังอำนาจเพื่อทำลายล้างและครอบครองสรรพสิ่ง อีกฝ่ายกลับตามล่าเพื่อนำพาไปเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย และมีฝ่ายยิบฝ่ายย่อยที่หวังร่ำรวยจากการเป็นเจ้าของมัน แต่ในหนังนั้นไม่ได้ชี้ชัดพลังของออร์บอย่างชัดเจน เห็นได้จากปฏิกิริยาของออร์บต่อผู้ที่สัมผัสแต่ละคนจาก ‘คาริน่า’ ทาสสาวตัวแดงที่ปลดพันธนาการจาก ‘The Collector’ ด้วยการสัมผัสออร์บจนระเบิดพลังออกมาทำลายทุกอย่างรอบๆ ขณะที่คาริน่าไม่เหลือซาก กรู๊ทอุ้มร็อกเก็ตวิ่งหนีออกไปข้างนอกซึ่งแรงระเบิดรุนแรงตามหลังมาติดๆ แต่ The Collector ซึ่งนอนแผ่อยู่ตรงนั้น รวมถึง สตาร์ลอร์ดกับกาโมร่าที่หลบอยู่ใกล้ๆกลับรอดได้ง่ายๆ รวมถึงหมาอวกาศตัวนั้น และพลังของออร์บในฉากสุดท้ายที่พ่อพระเอกของเราสัมผัสกลับถ่ายเทพลังได้ง่ายๆด้วยการจับมือหน้ากระดานคล้ายจะร้องเพลงสามัคคีชุมนุม อีกทั้งยังใช้พลังสังหารโรแนนได้อีกด้วย ซึ่งในฉากนี้ตัวละครชาวเมืองที่ยืนมุงอยู่ข้างหลังดูตลกน่าเวทนามากๆ และช่วยสร้างความรู้สึกไม่สมจริงสมจังได้เป็นอย่างดี
นอกจากออร์บแล้วยังมีความรุนแรงระหว่างตัวละคร ทั้งการที่โรแนนไม่ด่วนสังหาร ‘แดร๊กซ์’ แต่แดร๊กซ์กลับฆ่า ‘โคราธ’ ตัวละครลูกสมุนของ ‘โรแนน’ ได้อย่างไม่ยั้งมือ ขณะที่ ‘เนบิวล่า’ ก็พลาดเป้ากำกัดกาโมร่าทั้งที่สถานการณ์และความเคียดแค้นอำนวยให้บดขยี้กาโมร่าได้ทุกเมื่อ แต่สตาร์ลอร์ดกลับเสี่ยงชีวิตช่วยเหลือกาโมร่าด้วยการเรียกยานของยอนดูซึ่งกำลังตามล่าเขาอยู่มาช่วยได้ทันเวลาแทนที่จะฆ่าทิ้ง โดยเฉพาะการฟื้นคืนชีวิตของกรู๊ทอย่างง่ายๆแบบไม่มีที่มาที่ไปราวกับปักชำเพาะเมล็ดก็โตคืนเป็นกรู๊ทคนเดิมได้ใหม่แล้ว ถึงแม้ว่ามันจะสร้างความดีใจในการกลับมาแบบใสๆน่ารักน่าเอ็นดูสำหรับใครหลายๆคน แต่มันกลับทำให้ความสะเทือนเศร้าที่ผ่านมาไม่กี่นาทีนั้นเสียค่าไปในทันใด ถึงอย่างไรแล้วการที่ไม่ยอมให้ตัวละครฝ่ายฮีโร่ตายก็เป็นที่เข้าใจได้เพราะคนดูจะได้เห็นห้าผู้พิทักษ์จักรวาลครบแก๊งอีกครั้งในภาคต่อไป และร่วมแจม The Avenger อีกสักครั้ง